3. Climate Change คืออะไร
3.1 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ แต่ความหมายที่ใช้ในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์
Ref: กรมอุตุนิยมวิทยา (http://climate.tmd.go.th/content/article/9)
3.2 สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวิกฤติโลกร้อน
วิกฤติโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น น้ำ ดิน ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะขนาดเล็กในทะเล) และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นในชนบท (เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ) ได้หลายระดับ ขึ้นอยู่กับระดับและขนาดของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และวงกว้างย่อมสร้างผลกระทบที่รุนแรงได้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว หรือในพื้นที่ขนาดเล็ก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังส่งผลต่อภาคการเกษตรได้ในอีกหลายแง่มุมทั้งจากการที่ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นมากขึ้น,ความชื้นในบรรยากาศและฝนที่เปลี่ยนแปลงไป, ปฏิสัมพันธ์ของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอกาศ เป็นต้น
Ref: กรมอุตุนิยมวิทยา (http://climate.tmd.go.th/content/article/9)
3.3 มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างไร
กิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming)
Ref: กรมอุตุนิยมวิทยา (http://climate.tmd.go.th/content/article/9)3.4 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีความล่อแหลมอย่างสูงต่อความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate variability and change) เนื่องจากการดำรงชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศในภาพรวม ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตที่มีความล่อแหลมสูงต่อความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ทรัพยากรน้ำ ผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนทรัพยากรชายฝั่ง ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่สังเกตได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะความรุนแรงของลมฟ้าอากาศและสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบของภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม ตลอดจนสภาวะความรุนแรงของอุณหภูมิและคลื่นความร้อน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและมีความถี่ของการเกิดบ่อยครั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี โดยพบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงในประเทศไทยมากกว่า 50 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึงหลายพันล้านบาท ดังเช่นเมื่อเดือนสิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ.2549 ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4,523,382 ไร่ ใน 52 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 301,737 ราย พืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ถั่วเหลือง ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นถึง 935,250,290.- บาท ( กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 30 ตุลาคม 2549) ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาของประเทศ ภาวะภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ระหว่างปี พ.ศ.2547-2549 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลกระทบจากสภาวะความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม
Ref: เว็บไซต์ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม http://www.deqp.go.th/knowledge