ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (“SPCG”) ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งด้านการบริหารจัดการผลประกอบการของบริษัทฯ การแสวงหาผลกำไร การบริหารจัดการองค์กร การพิจารณาโอกาสในการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งจากมิติเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ รวมไปถึงมิติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และสังคมดิจิทัลยุคใหม่ นำมาซึ่งความท้าทายในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาศักยภาพของ SPCG
SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นพลังงานทางเลือกที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุน สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสําคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ประกอบกับวิกฤตการณ์ค่าไฟฟ้าแพงและกระแสความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาล ช่วยสร้างงาน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ สามารถนำพาสังคมโลกก้าวไปสู่การเป็นผู้นำสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ในประชาคมอาเซียน
ปัจจุบัน SPCG มีโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยทั้งหมด
36 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด
ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย อุดรธานีนครพนม เลย สุรินทร์ บุรีรัมย์
และลพบุรี รวมเนื้อที่ดินกว่า 5,000 ไร่ กำลังการผลิตรวมกว่า
260 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นอีก 3
โครงการ ได้แก่โครงการ “Tottori Yonago Mega Solar Farm” ณ เมืองทอตโตะริ
กำลังการผลิตติดตั้งรวม 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2561, โครงการ“Ukujima Mega Solar Project”
ณ เมืองซาเซโบ จังหวัดนางาซากิ กำลังการผลิตติดตั้งรวม
480 เมกะวัตต์ และโครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar
ณ เกาะคิวชู
(Kyushu) เมืองมิยาโกะ กำลังการผลิตติดตั้งรวม
67 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน SPCG มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
รวมกว่า 400 เมกะวัตต์ โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า
1,000 เมกะวัตต์