HOME NEWS & ACTIVITIES PRESS RELEASES
PRESS RELEASES
PRESS RELEASES
25 February 2022
SPCG กำไร 2,736.6 ล้านบาท เดินหน้า COD โครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ต้นปี 2566

SPCG เปิดเผยกำไรสุทธิปี 2564 จำนวน 2,736.6 ล้านบาท จ่ายปันผลทั้งปี 0.80 บาท เดินหน้า COD โครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ฝั่ง South Phase 44 เมกะวัตต์ (MW) ภายในต้นปี 2566

บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 4,492.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,736.6 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 2.37

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทสามารถทำกำไรได้ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นนี้ เนื่องจากบริษัทฯ มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ใช้นโยบายในการบริหารจัดการลดต้นทุนด้านต่างๆ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มลดลง 26.1 ล้านบาท และจะดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการลดต้นทุน
ด้านต่างๆ ลงอีกต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2564 และกำไรสะสม ในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายในงวดนี้ อัตราหุ้นละ 0.55 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 580,684,500 บาท (ห้าร้อยแปดสิบล้านหกแสนแปดหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565

 

ส่วนสาเหตุที่บริษัทฯ มีรายได้และกำไรลดลงเนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 - 2564 บริษัทมี 5 โซลาร์ฟาร์มที่ค่าแอดเดอร์หมดไปจากทั้งหมด 36 แห่ง ได้แก่ โครงการที่ โคราช 1 (20 เมษายน 2563), สกลนคร 1 (8 กุมภาพันธ์ 2564), นครพนม 1 (21 เมษายน 2564), โคราช 2 (12 กันยายน 2564) และ เลย 1 (14 กันยายน 2564) อย่างไรก็ตามแม้ค่าแอดเดอร์หมดไปบริษัทยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ


และจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกทำให้แผนงานหลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทย่อย โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ (SPR) ที่ให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการขายอยู่ตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทยังคงขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่โรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก

สำหรับ 2 โครงการใหญ่ที่ญี่ปุ่น ขณะนี้มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยโครงการ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 178,758 ล้านเยน หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาส 3 ปี 2565 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2023-2024

ด้านโครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น North Phase 23 เมกะวัตต์ (MW) และ South Phase 44 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้น 23,493 ล้านเยน หรือ ประมาณ 6,744 ล้านบาท โดย SPCG ถือหุ้น 10% คิดเป็นเงินจำนวน 314 ล้านเยน หรือประมาณ 91 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการเข้าไปร่วมทุนในไตรมาส 3 ปี 2564 เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 36 เยนต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าNorth Phase 18.7 ปี และ South Phase 17.8 ปี โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ทั้งนี้กำหนดวันจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับ North Phase ได้ดำเนินการ COD เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในส่วนของ South Phase คาดว่าสามารถ COD ได้ในช่วงเดือน ก.พ. 66

“SPCG มั่นใจว่า โซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นทุกโครงการที่บริษัทลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change แล้ว ยังสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมาให้บริษัทได้ในอนาคต” ดร.วันดีกล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านพลังงานสะอาด จากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นอกจากจะช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกกว่า 200,000 ตัน CO2 ต่อปี จากการดำเนินงานโครงการโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการ บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

โดย SPCG ได้รับเกียรติในการเข้าร่วมการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในงานนี้ กลุ่ม SDG7 Youth Constituency ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงาน UNFCCC The Major Group for Children and Youth ได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชน (Youth Representative) จากกว่า 200 คนทั่วโลก โดยนางสาวจิตใส สันตะบุตรฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาวุโส บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) “SPCG” ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นเวที โดยเสวนาในหัวข้อ “การจัดการโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมต่อถึงกัน เพื่อไฟฟ้าที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์” ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาล้วนเป็นระดับผู้นำองค์กรและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก
OTHER PRESS RELEASES
Call 02.011.8111
Copyright © 2019 SPCG Public Company Limited. All rights reserved. Designed by DEGITO